วันจันทร์, สิงหาคม 18, 2551

เรื่องของฉัน ตอนที่ 34

ตอนที่ 34

ด้านหน้าที่การงาน ฉันก็ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งโดยหลังจากย้ายครัวไปอยู่อุดรได้ไม่ถึงปีก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น Supervisor General Banking ตำแหน่งซุปเปอร์ไว้สเซอร์หรือที่คนไทยเรียกกันย่อ ๆ ว่า "ซุป" นี้ถือได้ว่าเป็นตำแหน่งใหญ่เพราะมีคนไทยเพียงสองหรือสามคนที่ได้เป็น “ซุป” นอกนั้นเป็นซุปฝรั่งทั้งสิ้น เทียบกับยศทางทหารตำแหน่ง “ซุป” น่าจะถือเป็นยศสูงที่สุดในทหารชั้นประทวน ถัดไปจากนี้ก็จะถือเป็นชั้นสัญญาบัตรหรืออ๊อฟฟิสเซอร์ซึ่งทั้งธนาคารในขณะนั้นมีอยู่เพียงสองคนคือ มร.บราเวนเดอร์ กับ มร.เบลค พอ มร.บราเวนเดอร์กลับนิวยอรค์ไป จึงเหลือ มร.เบลค ที่เป็นอ๊อฟฟิสเซอร์อยู่เพียงคนเดียว นอกนั้นทั้งฝรั่งทั้งไทยล้วนเป็นชั้นประทวนทั้งสิ้น

ที่มากับตำแหน่งและเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นก็คือความรับผิดชอบ ฉันได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ลงนามในเอกสารและตราสารทุกประเภทในนามของธนาคารได้แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่จำกัดวงเงินหรือที่เรียกกันว่า “ออทอไรซ์ดไซนเนอร์ คล้าสไฟฟ์” นอกจากนั้นยังต้องรับผิดชอบการจัดสรรเงินของสาขาเพิ่มจากงานประจำที่มีอยู่เดิมอีกด้วย หัวใจของงานธนาคารคือเงิน เหมือนกับหัวใจของปั๊มน้ำมันคือน้ำมัน ผู้จัดการสาขาเรียกชื่อตำแหน่งหน้าที่ว่า “บร้านซ ซุปเปอร์ไว้สเซอร์และแค๊ชซุปเปอร์ไว้สเซอร์ คือซุปที่รับผิดชอบจัดการเงินสดจะต้องวางแผนเบิกและจัดหาเงินสดสำรองไว้ให้เพียงพอกับการใช้บริการลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันเงินเพย์เด เงินไทยเบิกได้จากคลังจังหวัดซึ่งอยู่ที่เดียวกับศาลากลางจังหวัด เงินดอลล่าร์เบิกจากไฟแนนซ์อ๊อฟฟิส ภายในแคมพ์นั่นเอง

ขั้นตอนการเบิกและขนส่งเงินระหว่างสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกแคมพ์นั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉลี่ยการขนเงินแต่ละเที่ยวถ้าเป็นเงินบาทจะมีมูลค่าไม่เกินสองล้านบาทหรือ 20 ก้อน “ก้อน” เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกมัดเงินซึ่งมีมูลค่าหนึ่งแสนบาท ในตอนนั้นเป็นแบงค์ร้อย 10 มัด มัดละ 100 ฉบับคิดเป็นเงิน 1 หมื่นบาท เงินสิบมัดถือเป็นหนึ่งก้อนมัดด้วยเชือกขาวประทับตราครั่งแสดงว่าเป็นเงินที่มาจากคลังจังหวัด ดังนั้นเงินสิบก้อนมีมูลค่าเท่ากับ 1 ล้านบาท

สำหรับเงินดอลล่าร์ ถือเป็นระเบียบว่าภายในแคมพ์จะให้ใช้ธนบัตรหรือแบงค์หมุนเวียนที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นธนบัตร 20 ดอลล่าร์เท่านั้น ธนบัตรที่ใหญ่กว่า 20 เช่นแบงค์ 50 หรือ แบงค์ 100 จะถูกเก็บรวบรวมคืนให้ไฟแนนซ์อ๊อฟฟิสทั้งหมด เงินดอลล่าร์จะมัดเป็นก้อนเหมือนกันเรียกว่า "แรป" (Wrap)แบงค์ 20 แรปหนึ่งมี 100 ฉบับมีมูลค่าเท่ากับ 2,000 เหรียญ นอกจากนั้นก็จะเป็นแบงค์ 10 แรปละหนึ่งพัน แบงค์ 5 แรปละห้าร้อย และ แบงค์ 1 ดอลล่าร์ แรปละร้อย ส่วนเหรียญนั้นเก็บรวบรวมใส่ไว้เป็นหลอด ๆ หลอดละห้าสิบอันตามค่าของเงิน (ดีนอมิเนชั่น) เช่นเหรียญเพ็นนีที่มีค่า 1 เซนต์ หนึ่งหลอดจะมีค่าเท่ากับ 50 เซนต์เป็นต้น ที่ไม่ครบใส่หลอดก็ใส่กล่องแยกไว้ตามมูลค่าเรียกว่า “ลู้ซคอยส์”

การขนส่งเงินระหว่างคลังจังหวัดกับธนาคาร จะกำหนดให้มีเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางเฉพาะขาที่มีเงินอยู่ในรถไว้อย่างน้อย 3 เส้นทาง และจะต้องนัดหมายกันให้เรียบร้องระหว่าง เซ็คเคียวริตี้การ์ด กับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ว่าจะใช้เส้นทางใดก่อนการเดินทาง หากเงินที่ขนมีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาทจะใช้รถจิ๊บของ เซ็คเคียวริตี้การ์ด เพียง 1 คัน คุ้มกันรถธนาคารที่เป็นรถตู้และต้องเป็นรถตู้ที่ไม่มีเครื่องหมายใด ๆ ทั้งสิ้น เซ็คเคียวริตี้การ์ดจะนั่งมากับรถธนาคารหนึ่งคน บนรถคุ้มกันจะมีเซ็คเคียวริตี้การ์ดอาวุธครบมืออย่างน้อยสองคน นอกจากปืนพกยูเอสอาร์มี่ที่เอวแล้ว ก็มีปืนลูกซองชอร์ตกันปราบจราจลกับเอ็มสิบหกอีกอย่างละหนึ่งกระบอก รถคุ้มกันจะวิ่งตามหลังเสมอรถตู้ขนเงินเสมอ หากเงินที่ขนมามีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาท จะต้องใช้ รถจิ๊บของ เซ็คเคียวริตี้การ์ด สองคัน วิ่งนำหน้าหนึ่งคันและตามหลังหนึ่งคัน

ระบบรักษาความปลอดภัยในแคมพ์นี้เข้มงวดนัก เซ็คเคียวริตี้การ์ด ซึ่งมีทั้งที่เป็นฝรั่งและนิโกรคัดเลือกเอาเฉพาะที่ตัวใหญ่ราวกับยักษ์ ที่เป็นฝรั่งยังไม่น่ากลัวเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นนิโกรแล้วจะดูน่ากลัวมาก ทั้งใหญ่ทั้งดำมืดไปหมด ส่วนใหญ่ทหารเซ็คเคียวริตี้การ์ดหรือถ้าเรียกเป็นแบบไทยก็น่าจะเป็นสารวัตรทหาร (ส.ห.) จะมียศแค่แอร์แมนสองบั้ง แต่เวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแอร์แมนเหล่านี้จะสามารถออกคำสั่งให้ทหารทุกยศชั้นแม้แต่นายพันหรือนายพลนอนลงกับพื้นก็ได้ คำสั่งที่พวกนี้ใช้จะสั้นหนักแน่นและได้ใจความชัดเจนเช่น “ฟรี๊ซซซซ” ตามด้วย “ออนเดอะฟลอร์” ฉันเห็นครั้งหนึ่งเมื่อเทลเลอร์ชื่อสำคัญซึ่งมีชื่อเล่นเป็นฝรั่งว่า “ไอ้แซม” เอาเท้าไปเตะกล่องอะลามเข้า พอรู้ตัวอีกทีเซ็คเคียวริตี้การ์ดถือปืนลูกซองวิ่งเข้ามาเต็มแบงค์ไปหมดตะโกนเสียงลั่นว่า “ฟรี๊ซ ๆ ๆ” ตามด้วย “เอฟเวอรี่บอดี้ ออนเดอะฟลอร์” ขณะนั้นมีนายทหารยศพันตรี ดอกทองที่ปกเสื้อยังใหม่เอี่ยมอยู่เลย เข้าใจว่าเป็นทหารหมอเพิ่งถูกส่งมาใหม่ยืนแถวอยู่สองสามคนนอกนั้นเป็นทหารยศต่าง ๆ เต็มแบ๊งค์ ทุกคนหมอบลงกับพื้นอย่างรวดเร็วหัวหูแข้งขาก่ายกันไปหมดไม่รู้ว่าตรงไหนหัวตรงไหนหาง คงมีแต่พนักงานคนไทยเท่านั้นที่ยืนงงกันหมด พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งไทยและฝรั่งก็หัวร่อกันครืน แต่พวกเซ็คเคียวริตี้การ์ดไม่ยอมขำไปด้วย กว่าจะเคลียร์กันได้แทบแย่

เพื่อความเข้าใจและให้เห็นภาพเกี่ยวกับระบบสัญญาเตือนภัยในธนาคารได้ชัดเจนยิ่งขึ้นจึงขออธิบายพอเป็นสังเขปไว้ดังนี้ ระบบอะลามหรือระบบสัญญาณเตือนภัยของธนาคารมีตัวสวิชเป็นกล่องเหล็กยาวประมาณ 1 ฟุต ติดตั้งไว้บริเวณใต้เค้าเตอร์รับจ่ายเงิน พนักงานจะสามารถใช้เท้าสอดเข้าไปด้านใต้กล่องนี้แล้วกระดกปลายเท้าขึ้นดันกระเดื่องสวิชให้สัญญาณเตือนภัยไปดังขึ้นที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยของแคมพ์ได้โดยที่ไม่มีเสียผิดปกติใด ๆ ในธนาคารเลย เหตุที่ต้องเอาสวิชอะลามไปติดตั้งไว้ด้านล่างและออกแบบให้ใช้เท้าเขี่ยก็เพราะในการปล้นธนาคารโจรมักสั่งให้พนักงานทุกคนยกมือไว้เหนือหัวเสมอ ทำให้ไม่สะดวกที่จะใช้มือกดอะลาม แต่พนักงานจะสามารถใช้เท้าสอดเข้าไปใต้เค้าเตอร์กดอลามได้โดยโจรไม่สังเกต ข้อเสียก็คือ งานเทลเลอร์เป็นงานที่ต้องผลุดลุกผลุดนั่งอยู่แทบทั้งวัน จึงมีโอกาสที่เท้าจะไปเตะกล่องอะลามเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็ยากมากที่อะลามจะดังเพราะจะให้ดังต้องตั้งใจจริง ๆ เหมือนกับปืนพกยูเอสอาร์มี่ที่หากจะยิงนอกจากจะต้องปลดเซฟแล้วยังต้องบีบด้ามปืนให้แน่นแสดงว่าจะยิงแน่ ๆ จึงจะยิงออก ไอ้แซมมายอมรับเอาในภายหลังว่าที่จริงวันนั้นมันตั้งใจเตะอะลามเพราะหมั่นไส้ มร.ฮีลีย์ ที่มาต่อว่ามันเรื่องมาทำงานสาย

ระเบียบของธนาคารฝรั่งกรณีถูกปล้นที่น่าสนใจ ผู้คนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบคือ หากมีการปล้น ห้ามมิให้พนักงานขัดขืนต่อสู้กับโจรเป็นอันขาด โจรอยากได้อะไรให้ยกให้มันไปให้หมด พนักงานไม่ต้องร่วมรับผิดชอบชดใช้ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะฝรั่งถือมากว่าชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าซึ่งต้องสงวนไว้มากที่สุด สิ่งอื่นเสียไปไม่เป็นไร หาใหม่ สร้างใหม่มาทดแทนได้ แต่ชีวิตคนนั้นเสียไปแล้วเสียไปเลย นอกจากนั้น คนที่ต้องการเป็นฮีโร่หากไม่เก่งจริงพลาดพลั้งขึ้นมา นอกจากฮีโร่จะเจ็บหรือตายแล้ว คนอื่น ๆ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อาจพาลถูกลูกหลงเจ็บตายไปด้วย

หากถูกปล้น มีสองสิ่งที่เทลเลอร์ต้องทำคือพยายามใช้เท้าเตะกล่องอะลามและที่ต้องไม่ลืมเป็นอันขาดคือต้องเอา “ดีคอยมันนี่” ใส่รวมไปในถุงเงินให้โจรไปด้วย ดีคอยมันนี่คือเงินล่อเป้าหรือเงินเหยื่อที่มีการจดบันทึกหมายเลขไว้แล้วทุกฉบับ เป็นแบงค์กลางเก่ากลางใหม่และมัดรวมกันไว้ครบจำนวนเต็มแร็ป เงินดีคอยที่เป็นดอลล่าร์จะใช้แบงค์ฉบับละห้าดอลล่าร์ แต่ถ้าเป็นเงินไทยจะใช้แบงค์ร้อย วัตถุประสงค์ของดีคอยคือหวังว่าโจรจะนำเงินนั้นออกมาใช้จ่าย เมื่อคนร้ายเอาเงินที่ปล้นไปออกใช้ ก็จะสามารถตรวจสอบได้กับหมายเลขที่จดบันทึกไว้ หากพบว่าตรงกันก็จะเป็นแนวทางให้สืบจับคนร้ายได้ต่อไป

ต่อมาในภายหลัง ดีคอยมันนี่มีพัฒนาการมากขึ้น กล่าวคือที่แร็ปจะมีกลไก เมื่อใดก็ตามที่แร็ปถูกฉีกออกจากกัน กลไกจะพ่นสารเคมีเป็นสีน้ำเงิน สีแดง หรือ สีเหลืองออกมา สีเคมีนี้เมื่อติดผิวหนังหรือเสื้อผ้าแล้วจะล้างไม่ออก เวลาเดินไปไหนก็จะเป็นที่สังเกตเห็นได้โดยง่าย
ในฐานะที่ฉันเป็นซุป จึงได้รับมอบหมายให้ถือรหัสประตูห้องโวล์ทด้วย ห้องโวล์ทหรือศัพท์ภาษาไทยเรียกกันแปลก ๆ ว่า “ห้องมั่นคง” เข้าใจว่าแปลเอาตรง ๆ จากคำภาษาอังกฤษว่า สตรองรูม ในอังกฤษนิยมที่จะเรียกห้องมั่นคงว่า สตรองรูม ส่วนในอเมริกาเรียกว่า โวลท์ ห้องโวลท์ในธนาคารคือห้องที่ใช้เก็บเงินสด ตราสารทางการเงินเช็นเช็คเดินทาง ดร๊าฟท์และมันนี่ออร์เดอร์ รวมตลอดไปจนถึงเอกสารสำคัญต่าง ๆ ประตูโวล์ทซึ่งเป็นเหล็กแข็งแรงกันได้ทั้งไฟและสว่านจะปิดหรือเปิดได้ต้องมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารร่วมกันดำเนินการสองคนเสมอ คนหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าเทลเลอร์จะถือกุญแจล๊อกรหัส ไม่เปิดกุญแจนี้ก็จะหมุนรหัสไม่ได้ อีกคนหนึ่งคือ ซุป ซึ่งจะเป็นคนถือรหัส รหัสโวล์ทนี้จะเปลี่ยนทุกหกเดือน หรือทันทีที่มีผู้ถือรหัสคนหนึ่งคนใดพ้นจากหน้าที่ไป ผู้ถือรหัสคือผู้เปลี่ยนรหัส เมื่อเปลี่ยนแล้วต้องบันทึกรหัสที่เปลี่ยนใหม่ลงแบบฟอร์มบันทึกรหัสใส่ซองเฉพาะลงนามประจำต่อแล้วจึงปิดผนึกซองซึ่งเป็นกาวในตัว ปิดแล้วปิดเลยเปิดอีกไม่ได้นอกจากฉีกในที่ซึ่งกำหนดไว้ให้ ซองบันทึกรหัสนี้จะถูกส่งไปเก็บรักษาไว้ที่ฝ่ายตรวจสอบภายในที่กรุงเทพเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบ นอกจากรหัสในซองบันทึกรหัสแล้ว ห้ามมิให้จดรหัสไว้ในที่อื่นใดอีก ผู้ถือรหัสจะต้องจำรหัสให้ได้ขึ้นใจสถานเดียวเท่านั้น

รหัสโวลท์เป็นชุดของตัวเลขประกอบกันตั้งแต่สามถึงห้าชุดแล้วแต่ขนาดหรือความสำคัญของโวลท์ แป้นรหัสจะเป็นแป้นกลมมีตัวเลขตั้งแต่ 0 ถึง 100 อยู่รอบ ๆ รหัสโวลท์จะกำหนดเป็นตัวเลขใดก็ได้จาก 0 – 100 ทั้งนี้ต้องกำหนดให้เป็นตัวเลขที่เป็นเศษห้ามมิให้กำหนดตัวเลขที่เพิ่มทวีขึ้นทีละห้าหรือสิบเพื่อให้ยากแก่การคาดเดา ยกตัวอย่างเช่น 12 (R-5)-24 (L-4)-66 (R-3)-58 (L-2) 90 (r/l) หมายความว่าหลังจากไขกุญแจล๊อกรหัสแล้ว ผู้เปิดจะต้องหมุนแป้นรหัสไปทางขวามือให้ผ่านเลข 12 อย่างน้อยห้ารอบในรอบที่ห้าหรือรอบที่เท่าไหร่ก็แล้วแต่ที่มากกว่าห้ารอบต้องหยุดที่เลข 12 จากนั้นก็หมุนแป้นรหัสกลับไปทางซ้ายให้ผ่านเลข 24 สี่รอบ คราวนี้ต้องระวังให้ดีเพราะพอครบรอบที่สี่ต้องหยุดที่เลข 24 พอดี แล้วหมุนกลับไปทางขวาให้ผ่านเลข 66 อีก 3 รอบพอครบรอบที่สามต้องหยุดที่เลข 66 พอดี ที่นี้ก็หมุนกลับทางซ้ายให้ผ่านเลข 58 อีก 2 รอบพอครบรอบที่สองต้องหยุดที่เลข 58 ให้พอดี แล้วหมุนกลับทางขวาพอถึงเลข 90 ปุ่มรหัสจะล๊อกหมุนต่อไปไม่ได้เสียงตัวล๊อกตกดังแคร๊ง แสดงว่าหมุนรหัสถูกต้องเปิดประตูได้ หากทำขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดผิดจะต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้นทุกครั้ง

(มีต่ออีกหน่อย..ข้างล่างน่ะ)
จากคุณ : แมงกะพรุน - [5 ก.ค. 45 02:25:49 A:203.107.150.32 X:]
--------------------------------------------------------------------------------
ความคิดเห็นที่ 1
ในสมัยนั้น ยังไม่มีระบบนิรภัยที่ซับซ้อนเหมือนในปัจจุบัน นอกจากรหัสและกุญแจแล้ว ระบบนิรภัยที่ใช้คือระบบการควบคุมการปิดเปิดประตูโวล์ทอย่างง่าย ๆ โดยที่ประตูโวล์ทจะติดตั้งสวิชคอนแทคซึ่งต่อสายตรงไปยังศูนย์รักษาความปลอดภัยเมื่อปิดประตู คอนแทคที่ประตูก็จะสัมผัสกับคอนแทคอีกตัวที่ติดไว้ที่วงกบประตู ก่อนที่จะเปิดประตูโวล์ทในตอนเช้า ซุป ที่เข้าเวรเช้าจะต้องโทรศัพท์แจ้งไปที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยของแคมพ์ โดยแจ้งชื่อของตนเองและความประสงค์ที่จะเปิดโวล์ท สำหรับซุปที่เป็นคนไทย ตกลงกันว่าจะใช้ชื่อแรกไม่ใช้นามสกุลหรือล้าสท์เนมเหมือนที่ฝรั่งใช้กัน เหตุเพราะว่าคนไทยมีนามสกุลที่ยาวมากแถมยังออกเสียงแปลก ๆ ฝรั่งฟังไม่เข้าใจ ขนาดใช้ชื่อแรกยังต้องสะกดให้ฟังทุกครั้ง จากนั้นทหารที่เข้าเวรที่ศูนย์จะให้ตัวเลขรหัสมาตัวหนึ่ง ซุปจะต้องตอบตัวเลขอีกตัวหนึ่งซึ่งเมื่อเอาสองตัวมารวมกันแล้วได้ผลลัพท์ตามที่ตกลงกันไว้ เช่นตกลงกันกำหนดรหัสประจำสัปดาห์นั้นเป็น 13 ทางโน้นบอก “ไอกีฟยูแอน 8” เราต้องรีบตอบกลับไปว่า “ไอกีฟยูอะไฟว์” เป็นต้น เมื่อตอบรหัสได้ถูกต้องทางโน้นจะสั่งสั้น ๆ ว่า “โก” จึงจะเปิดประตูโวล์ทได้ ตอนเย็นก่อนจะปิดประตูโวล์ทก็เช่นกัน ซุปต้องโทรศัพท์แจ้งเช็ครหัสกันถูกต้องเรียบร้อยแล้วจึงปิดประตูได้ ตอบรหัสผิดเมื่อใดเป็นเรื่องเมื่อนั้น เมื่อปิดประตูแล้วทางศูนย์ก็จะเปิดไนท์สวิช หากปรากฏว่ามีใครแอบมาเปิดประตูโวล์ทในตอนกลางคืน สัญญาณภัยก็จะดังขึ้นที่เซ้คเคียวริตี้คอนโทรลเซ็นเตอร์ ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที เซ็คเคียวรีตี้การ์ด ก็จะแห่กันมาเต็มแบงค์

ตลอดเวลาที่ฉันทำงานในหน้าที่ไม่เคยถูกปล้นเลย จะมีก็แต่พนักงานเทลเลอร์ยักยอกเอาเงินที่อยู่ในแคชบ๊อกซ์หลบหนีไป ฝรั่งเรียกว่า "ดีฟอลเคชั่น" การหอบเงินหนีฝรั่งนี้ไม่ต้องวางแผนหรือมีเทคนิคซับซ้อนอะไรมากมายถือโอกาสทำกันตอนวันเพเดย์เพราะคนเยอะและเงินหมุนเวียนมาก แอบคว้าเงินทั้งดอลล่าร์และบาท ใส่กระเป๋าให้มากที่สุด แล้วทำทีไปเข้าห้องน้ำ หรือพักกินข้าวแล้ว หนีไปเลย จะเอาตอนเย็นไม่ได้ เพราะก่อนเก็บกล่องเงิน (แค้ชบ๊อกซ์) เข้าโวลท์หรือห้องมั่นคง แค๊ชซุป จะต้องตรวจนับเงินในกล่องให้ถูกต้องตรงกับที่ลงบัญชีเงินคงเหลือก่อนเสมอ สมัยนั้นเงินใบละห้าร้อยใบละพันยังไม่มี มีแต่ใบละร้อย ความเสียหายจึงยังไม่มากรวมทั้งเงินบาททั้งเงินดอลล่าร์อย่างมากก็เสียหายเป็นหลักแสน

ที่แนบเนียนร้ายกาจที่สุดคือรายที่เป็นผู้หญิงรายหนึ่ง ลงทุนทำเป็นท้อง ทั้ง ๆ ที่จริงไม่ได้ท้อง ทนทำเป็นท้องอยู่ถึงหกเดือน สมบทบาทขนาดแสดงอาการแพ้ท้องได้อย่างแนบเนียนและท้องก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันจ่ายเงินเดือนทหารวันหนึ่งปรากฏว่าพนักงานหญิงรายนั้นออกไปพักกินข้าวกลางวัน แล้วไม่กลับมาอีก หายไปพร้อมกับเงินหลายแสนที่ยัดใส่ใต้เสื้อคลุมท้องไป ที่รู้ว่าท้องปลอมเพราะหล่อนทิ้งหมอนที่ใช้ยัดพุงมาตลอด 6 เดือนจนคนเชื่อว่าท้องไว้ให้ดูต่างหน้าเป็นการเยาะเย้ยหนึ่งใบ การแกล้งท้องครั้งนี้ถือว่าคุ้ม เพราะได้เงินไปมากที่สุด ที่สำคัญคือคนชั่วคนนี้ยังลอยนวล จับไม่ได้จนถึงทุกวันนี้
จากคุณ : แมงกะพรุน - [5 ก.ค. 45 02:31:58 A:203.107.150.32 X:]

ความคิดเห็นที่ 2
"ซุบฯแมงฯ"ๆๆ... เก๋ไก๋ดีนะคะ มานั่งรอฟังทุกวัน ไม่ทราบว่าใจร้อนอยากฟังเกินไปกระมัง ใจร้ายกับนักเขียนนะคะคนอ่านนี่ อิ..อิ.. ทั้งๆที่ใจหนึ่งก็บอกว่าขอให้ดูแลกายและใจให้ดีๆ พูดถึงเรื่องชื่อ นามสกุลเราเป็นปัญหาสำหรับคนต่างชาติดีค่ะ เห็นคุณหมอหลายๆ คนที่นี่ที่นามสกุลยาวๆ ตัดไปเลย เหลือหนึ่งหรือสองพยางค์เอง
ขอคุณพระคุ้มครองสุขภาพค่ะ
จากคุณ : ปราณ - [5 ก.ค. 45 03:14:33 ]

ความคิดเห็นที่ 3
หวาย..ขออภัย ป ปลาค่ะ ซุปฯแมงฯ ค่ะ ไม่ใช่ซุบฯแมงฯ แต่ก็เรียกน้ำย่อยเหมือนๆกัน
จากคุณ : ปราณ - [5 ก.ค. 45 03:19:53 ]

ความคิดเห็นที่ 4
เย้ มาต่อพี่หมอปราณ คิดว่าจะคุยต่อเรื่องปืนที่ขายไปซะอีกนะพี่แมงกะพรุน ที่แบงค์นี้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจริงๆ
แต่ก็หอบเงินหนีกันง่ายๆเลยเนอะ ไม่น่าเชื่อ ฝรั่งคิดไม่ถึงว่าจะถูกปล้นง่ายๆโดยพนักงานนะนี่ ก็เงินมันล่อตาล่อใจทุกวันนี่เนอะ ช่างไม่กลัวบาปกรรมซะเลยคนพวกนี้ เด๋วมาใหม่ค่ะ..ต้องออกไปตะลอนอีกแล้ว
จากคุณ : JW - [5 ก.ค. 45 04:39:56 A:142.173.107.180 X:]

ความคิดเห็นที่ 5
สงสัยต่อไปเวลาโจรปล้น ต้องสั่ง ยกมือและเท้าขึ้น !!!
จากคุณ : GTW - [5 ก.ค. 45 05:15:35 A:202.133.172.7 X:]

ความคิดเห็นที่ 6
@^_^@ มานั่งฟังเพลินๆ ค่ะ
จากคุณ : ธราธร - [5 ก.ค. 45 05:32:20 ]

ความคิดเห็นที่ 7
เมื่อก่อนพ่อเราทำงานเป็น supervisor inspecter
จากคุณ : Licht - [5 ก.ค. 45 10:32:26 A:158.108.5.6 X:158.108.80.229]

ความคิดเห็นที่ 8
โห .. มุขคนท้องนี่ เด็ดจริงๆ ลงทุนมาก
จากคุณ : scottie - [5 ก.ค. 45 12:49:01 ]

ความคิดเห็นที่ 9
ตอนนี้ได้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิรภัยในธนาคารสมัยก่อนโน้นเพียบเลยค่ะ ประทับใจคนท้องมาก อดทนได้ตั้ง 6 เดือน อิอิ เป็นข้อคิดที่ดีว่าจะทำการใหญ่ต้องอดทน นับถือๆ แต่น่าเสียดายที่เป็นการใหญ่ที่ไม่น่ายกย่องเท่าไร
จากคุณ : O-HO - [5 ก.ค. 45 13:58:13 ]

ความคิดเห็นที่ 10
แหม ไอ้มหาโจรตัวไหนมันแหกเข้าไปปล้นแบงค์กลางแคมป์ทหารอเมริกันได้ก็คงต้องยอมช่วยมันนับเงินใส่ถุง แถมช่วยแบกไปส่งหน้าประตูให้เรียบร้อยละครับ เอาไปสร้างหนังได้เลย โอกาสที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดน่าจะเป็นตอนขนเงินมากกว่า นึกๆ ก็น่าลองเหมือนกันแฮะ พี่แมงน่าจะมาเปิดเผยความลับเร็วกว่านี้ซักยี่สิบปี เผื่อผมจะหน้ามืดปล้นดอลล่าห์มากู้ชาติบ้าง (ตอนนี้ไม่มี เพลงประกอบหรือครับ น่าจะมีเพลง Mission Impossible คลอด้วยนะ)
จากคุณ : มูโจ้ - [5 ก.ค. 45 15:15:06 A:203.144.143.254 X:203.144.134.18]

ความคิดเห็นที่ 11
^-^ มาเก็บต่อ....อีกแล้ว แผนท้องนี่ สุดยอดเลย..อดทนดีจริง....เฮ้อ...แต่ไงการขโมยเนี่ย ก้อเป็นสิ่งไม่ดีจริงๆ ไม่ว่าด้วยวิธีไหนก้อตาม ^-^
จากคุณ : T.time - [5 ก.ค. 45 15:59:44 ]

ความคิดเห็นที่ 12
เคยละทิ้งหน้าที่การงานที่ได้รับเงินเยอะกว่าในปัจจุบัน เลยสงสัยอยู่ครามครันว่า ตัวเราผิดปกติหรือไรนี่ ในขณะที่คนอื่นๆต่างแสวงหาแต่..ที่ไหนได้เงินดีก็ไปที่นั่น.. เลยต้องมานั่งทำตัวจนกับ เงินเดือนที่ ราชการเค้าให้มา หึ หึ ไม่มีอะไรครับ อ่านเรื่องราวของคุณแมงกะพรุนแล้วก็มานั่งนึกถึงเรื่องตัวเอง...อืมมม 6 เดือนกับการ แสร้งกระทำนี่น้ำอดน้ำทนดีเหลือหลาย สมควรให้ไป 5 5 5
จากคุณ : เด็กช่างฯ - [5 ก.ค. 45 17:45:35 A:203.144.205.146 X:]

ความคิดเห็นที่ 13
ยัยคนท้องนี่แกตั้งใจมากเลยนิ อุตส่าห์ทนแบกท้องอยู่ได้ตั้ง ๖ เดือนแน่ะ เงินที่ได้ไปคราวนั้นถ้าแกรู้จักใช้ รู้จักต่อเงินละก็ ป่านนี้แกคงเป็นเศรษฐีไปแล้วละมั๊ง
จากคุณ : หมูแดงจ้ะ - [6 ก.ค. 45 01:12:11 ]

ความคิดเห็นที่ 14
ได้ความรู้มากเลยค่ะ ....ยายคนนั้นมีความอดทนอย่างไม่น่าเชื่อ ..และก็มั่นใจว่าเงินทองที่ได้ไปด้วยความไม่สุจรตินั้น คงใช้ได้ไม่นาน คนอาไร๊ มันช่างอดทนและทนอดในการทำชั่วได้ยาวนานจริงๆ แต่นับถือไม่ลงอ่ะ
จากคุณ : นายน้อง - [6 ก.ค. 45 18:31:59 A:203.113.51.104 X:]

ความคิดเห็นที่ 15
เออ แปลกดีแฮะ พวกธนาคารเขามีศัพท์แปลกๆเยอะดี อย่างเงินมัดนึงก็เรียกเป็น 'ก้อน' แหม 'ก้อน' เนี่ยไม่น่าเป็นลักษณะนามของเงินเลยนะ นึกถึงอย่างอื่นมากกว่า อุอุ ฮั่นแน่ นอนดึกอีกแล้วพี่แมงฯ
จากคุณ : bellissima - [7 ก.ค. 45 15:31:59 A:217.162.157.71 X:]

ความคิดเห็นที่ 16
++คุณ bellissima:
มีที่แปลกกว่านี้อีกครับ อย่างเช่นคำว่า "แบ" อยากรู้ว่าแบที่ไม่ได้แปลว่า "แบ" นั้นแปลว่าอะไรก็โปรดติดตามอ่านต่อไปเรื่อย ๆ .. ไม่ได้นอนดึกสักหน่อยนะ เพิ่งตื่นต่างหาก
++คุณ นายน้อง:
ขอบคุณครับ..ดีใจที่ชอบ
++คุณหมูแดงจ้ะ:
จากประสบการณ์พบว่า คนที่ตัดสินใจที่จะขโมยโดยที่มิได้มีสันดานเป็นโจรนั้น ล้วนเกิดจากการที่ถูกความจำเป็นบีบบังคับทั้งสิ้น แต่บังเอิญเป็นคนที่ "มีโอกาส" ก็เลยตัดสินใจขโมยเอาเพราะง่ายดี
++คุณเด็กช่างฯ:
แรงจูงใจให้คนทำงานมีหลายอย่าง เงินเป็นเพียงอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด จริงอยู่คนมักนึกถึงเงินควบคู่ไปกับงานเสมอ แต่ก็มีคนเป็นจำนวนมากที่ทำงานเพราะอย่างอื่นที่ไม่ใช่เงิน ที่เห็นเป็นอันมากก็คือ "อำนาจ" ที่บ้าหนักก็คงเป็นพวกฉัน ที่ตอนช่วงท้าย ๆ ของอาชีพ ทำงาน "เอาความมัน"
++คุณ T.Time:
เห็นด้วยครับ
++คุณมูโจ้:
ฝรั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกอเมริกัน เป็นพวกที่ชอบ "ล้อมคอกก่อนวัวหาย" ครับ วิธีคิดของพวกนี้คือ "ว๊อด อีฟ" คือเขาจะไม่คิดว่า "โฮ้ย ไม่มีปัญหาหรอก" แต่จะสวมวิญญาณพวก "มองโลกในแง่ร้าย" พยายามคิดหาความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้นแล้วหาแนวทางป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นเกิด แทนที่จะรอให้เกิดเสียก่อนแล้วจึงมานั่งหาทางแก้ ขนาดนั้นยังพลาดบ่อย อย่างเช่นเรื่องยานอพอลโล่ที่ถูกไฟไหม้หรือกระสวยที่ระเบิดที่ผู้เกี่ยวข้องออกมารับที่หลังว่า "เราคิดถึงปัญหาต่าง ๆ และวิธีแก้ไขเป็นพันเป็นหมื่นปัญหา แต่มองข้ามปัญหาง่าย ๆ บางอย่างไป"
++คุณโอ้โฮ:
ขอบคุณครับ
++คุณ Scottie:
ครับ..ถ้าจะมองว่า "ความอดทน" เป็น "การลงทุน"
++น้องเจ (อีกที)
เขาเรียก "Acceptable Risk" ไง ไม่ใช่ไม่รู้ว่ามันเสี่ยง แต่ความเสียหายที่อาจเกิดจากความเสี่ยงนั้น ๆ อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่นธนาคารใหญ่ ๆ ในอเมริกาจะตรวจสอบลายเซ็นต์ของผู้สั่งจ่ายบนเช็คที่ส่งเรียกเก็บผ่านระบบเคลียริ่งเฉพาะที่มีมูลค่าสูงกว่าสองพันเหรียญขึ้นไปเท่านั้นเหตุเพราะปริมาณเช็คที่ส่งมาเรียกเก็บมีมากมายในแต่ละวัน หากจะตรวจลายเช็นต์ผู้สั่งจ่ายบนเช็คทุกใบจะต้องใช้คนมหาศาลไม่คุ้มกัน..เชื่อหรือไม่
++คุณหมอปราณ:
ขอบคุณในพรของคุณหมอนะครับ ตอนนี้ปั่นป่วนเล็กน้อยเพราะหมอสั่งเปลี่ยนยา คงต้องปรับตัวสักพัก พูดถึง "แมง" แล้วตอนนี้ในเมืองไทยมีแฟรนไซส์ขายแมงทอดด้วยนะ มีแมงหลายชนิดจับมาทอดกรอบในน้ำมันแล้วใส่ แพกเกจจิ้งสวย ๆ ขายให้พวกวัยรุ่น แต่ยังดีนะที่ไม่มี แมลงสาบ
ด้วยความปรารถนาดี
จากคุณ : แมงกะพรุน - [8 ก.ค. 45 05:47:52 A:203.149.40.160 X:]

ความคิดเห็นที่ 19
คุณแมงฯคะ ขอให้เลิกปั่นป่วนโดยไวนะคะ มีกำลังกายกำลังใจ ดีหนึ่งเลย เวลา make round ทุกวัน ได้ส่งพลังรักษาข้ามทวีปมานะคะ (เป็นกำลังภายในอะไรงั้นละค่ะ) ด้วยความเป็นห่วงยิ่ง
จากคุณ : ปราณ - [8 ก.ค. 45 08:31:14 ]


ความคิดเห็นที่ 24
I hope you get better soon. ^_^
จากคุณ : Lazy Genius - [11 ก.ค. 45 01:11:09 ]

ไม่มีความคิดเห็น: