วันอังคาร, กรกฎาคม 22, 2551

เรื่องของฉัน ตอนที่ 4

ตอนที่ 4
เมื่อฉันโตขึ้นจนพอรู้ความจึงได้รับทราบประวัติความเป็นมาของป๋าและแม่ว่าการที่ทั้งสองตกร่องปล่องชิ้นกันนั้นหาได้เกิดจากความรักหรือความเสน่หาของทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใดไม่ ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น ป๋านั้นเป็นเด็กเรียนแถมหน้าตาก็มิได้หล่อเหลาเนื่องจากศีรษะเริ่มล้านตั้งแต่ย่างเข้าวัยหนุ่ม ป๋าได้พบกับยายก่อนที่ที่ทำงานของป๋าแถวถนนเจริญกรุงเป็นห้างของญี่ปุ่นชื่อ “อากาต้า” หรือ “อาตาก้า” จำไม่ได้แน่นอนเสียแล้ว ป๋าทำงานเป็นนายหน้ารับซื้อผลิตผลการเกษตรหรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “กัมประโด” ส่วนยายนั้นทำงานในตำแหน่งแม่บ้านของบริษัทจึงได้มีโอกาสใกล้ชิดกับป๋า ซึ่งยายมองว่าเป็นว่าเป็นคนดีพลันคงนึกขึ้นมาได้ว่ามีลูกสาวที่ย่างเข้าวัยสาวที่ออกแววสวยมากคือแม่ซึ่งยายทิ้งไว้กับคุณตาซึ่งนำไปให้แม่ของตัวหรือย่าของแม่ (นางอัยการโกศล) เลี้ยงดูไว้ เลยเสนอว่าจะยกลูกสาวให้โดยเรียกสินสอดทองมั่นกันพอสมควร ป๋านั้นสนใจของเสนอของยายเป็นอย่างยิ่ง จึงเกิดการดูตัวกันขึ้น เมื่อพบหน้ากันเป็นครั้งแรกป๋าก็ตกหลุมหลงรักแม่ในทันทีส่วนแม่นั้นกลับตรงกันข้าม ด้วยเหตุที่แม่ในขณะนั้นผูกสมัครรักใคร่อยู่กับหนุ่มลูกเจ้าของโรงน้ำแข็งแถว ๆ ถนนตกจึงไม่ยอมคล้อยตามคำยุยงของยาย สุดท้ายยายต้องใช้ไม้ตายด้วยการพาป๋าไปสู่ขอแม่กับย่าของแม่หรือคุณทวดของฉัน โดยตรง คุณทวดนั้นก็คงคล้าย ๆ กับคนแก่ทั่ว ๆ ไปที่หวังเพียงจะให้ลูกหลานได้รับความสะดวกสบายในชีวิตเป็นที่ตั้ง เมื่อป๋าที่เป็นคนหนุ่มมีอนาคตที่อยู่ในเกณฑ์ดีรับปากรับคำเป็นมั่นเหมาะว่าจะเลี้ยงดูแม่เป็นอย่างดีและจะไม่ยอมให้ตกระกำลำบาก ก็ตัดสินใจยกแม่ให้อย่างง่าย ๆ ในทันทีเช่นกันแม่จึงหมดทางปฏิเสธจำเป็นต้องตกกระไดพลอยโจน เมื่อทั้งคู่แต่งงานกันนั้นแม่น่าจะมีอายุราว ๆ 16-17 เป็นอย่างมาก ส่วนป๋ามีอายุแก่กว่าแม่ในราวสิบปี

งานแต่งของทั้งสองจัดกันอย่างเอิกเกริกมีทั้งการเลี้ยงพระ ตักบาตร ในตอนเช้า และเลี้ยงแขกในตอนกลางคืน ส่วนใหญ่ของคนที่มางานแต่งงานในครั้งนั้นล้วนเป็นเพื่อนหรือลูกค้าของป๋า เจ้าบ่าว เจ้าสาว และเพื่อนเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าสาวแต่แบบฝรั่งสวยงามไปหมด หลังจากงานเลี้ยงป๋าพาแม่ไป “ฮันนีมูน” ที่หัวหินซึ่งเป็นสถานที่ตากอากาศที่นิยมกันมากในหมู่ผู้ดีมีสตางค์ในสมัยนั้น

ทุกคนที่รู้จักแม่ในวัยสาวรวมถึงผู้ที่ได้เห็นรูปถ่ายแม่ในวัยสาวต่างต้องยอมรับว่าแม่นั้นสวยนัก เมื่อป๋าได้แม่มาอย่างโชคช่วยจึงตกอยู่ในอาการหลงแม่อย่างรุนแรง ส่วนแม่นั้นแล้วแต่อารมณ์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แต่ส่วนใหญ่จะร้าย สิ่งที่คุ้นตาคนใกล้ชิดรวมทั้งฉันด้วยคือการที่ป๋ายอมแม่ไปเสียทุกอย่าง หากจะมองว่าป๋าเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของชมรมคนกลัวเมียก็คงไม่ผิด แม่นั้นเวลาดีก็จะดีใจหาย เรียกป๋าว่าพี่เรียกตัวเองว่าน้อง เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินแม่เรียกป๋าว่า “ลื้อ” เรียกตัวเองว่า “อั๊ว” ให้รู้ได้เลยว่าขณะนั้นแม่อารมณ์ไม่ดี นอกจากความสวยแล้วสิ่งที่ติดตัวแม่มาอีกอย่างหนึ่งคือความสามารถในการทำกับข้าวและเทคนิคพลิกแพลงในการทำกับข้าว เมื่ออยู่กินกับป๋าใหม่ ๆ แม่ทำเป็นแต่อาหารไทย ต่อมาป๋าซึ่งกินอาหารเผ็ดไม่เก่งเช่นเดียวกับลูกจีนทั่ว ๆ ไปก็ค่อย ๆ สอนให้แม่ทำกับข้าวจีนซึ่งแม่ก็พลิกแพลงจนยากที่จะบอกว่าเป็นอาหารไทยหรือจีนยกตัวอย่างเช่น เต้าหู้ทอดที่ขายเป็นพวง ๆ สมัยที่ฉันยังเด็กจำได้ว่าเต้าหู้ทอดนั้นลูกใหญ่มากเดี๋ยวนี้เห็นทำออกมาแต่ลูกเล็ก ๆ ดูไม่น่ากินเหมือนก่อน เต้าหู้ทอดที่ว่านี้นำมาทำกับข้าวได้สองอย่าง อย่างแรกคือแกงจืดที่แม่เอาเต้าหู้มาผ่าครึ่งแต่ไม่ให้ขาดแล้วเอาหมูสับปนกับกุ้งคลุกไข่ยัดเป็นไส้ ก่อนที่จะแกงแม่จะเอาเต้าหู้ที่ยัดไส้แล้วลงทอดในน้ำมันจนเหลืองน่ากินแล้วจึงเอาลงในหม้อแกงต้มกระดูกหมูซึ่งใส่ผักดองด้วยกินกับข้าวสวยร้อน ๆ ข้าวหมดหม้อไม่รู้ตัว

อีกอย่างที่อร่อยไม่แพ้กันคือเต้าหู้หวาน แม่ใช้เต้าหู้แบบเดียวกันผ่าครึ่งแล้วทอดในน้ำมันปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บและน้ำปลาพอจะสุกก็เอาพริกชี้ฟ้าสีเหลือง (ต้องเป็นสีเหลืองเพราะใส่สีอื่นแล้วไม่น่ากินเท่า) หั่นแฉลบ ๆ โปรยลงไป จานนี้กินได้กับทั้งข้าวสวยและข้าวต้ม ส่วนเต้าหู้ขาวแม่ก็นำมาฝานเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วผัดกับหมูปรุงรสด้วยซีอิ้วขาว ซีอิ้วดำ น้ำตาล ผัดให้ออกน้ำข้นขลุกขลิกกินกับข้าวต้มอร่อยนัก อาหารแปลกอีกอย่างที่แม่ดัดแปลงไม่เคยเห็นที่ไหนคือสิ่งที่แม่เรียกว่าเมี่ยงกวางตุ้ง ประกอบด้วยก๋วยเตี๋ยวแผ่นที่เขาเอามาหั่นเป็นเส้นใหญ่แต่แม่จะซื้อมาเป็นแผ่นโดยไม่ให้หั่นเอามานึ่งให้สุกแล้วหั่นเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาดพอคำ แผ่นก๋วยเตี๋ยวที่ว่านี้กินกับไส้ซึ่งทำด้วยหมูสับผัดกับหอมแดง ปรุงรสด้วยน้ำปลาซีอิ้วดำ น้ำตาล ผัดรวนกันให้ออกน้ำขลุกขลิกเช่นกัน เวลาจะกินให้เอาแผ่นก๋วยเตี๋ยววางบนผักกาดหอมหยอดด้วยหน้าที่ว่า แนมด้วยมะเขือเทศสีดาฝานเป็นแว่น ๆ แล้วหยอดด้วยน้ำปลาพริกขี้หนูเหยาะน้ำมะนาว อาหารจานนี้กินเป็นของว่างหรือจะกินเอาอิ่มก็ได้ เข้าใจว่าแม่แปลงมาจากเมี่ยงปลาทู ที่ว่ามานี้ยกเป็นตัวอย่างเฉพาะที่เห็นว่าแปลก ส่วนจานเด็ดอื่น ๆ เช่นน้ำพริกทุกประเภท เต้าเจี้ยวหลน ปลาร้าหลน แกงเผ็ดแกงเขียวหวานทุกประเภทโดยเฉพาะแกงเขียวหวานเนื้อ ไปจนถึงอาหารพื้น ๆ อย่างไข่เจียว ไข่ลูกเขย หรือ ไข่ยัดไส้นั้น ไม่ต้องพูดถึงอร่อยเหลือเชื่อทุกจานไป สมัยที่ฉันยังเด็ก แต่ละบ้านจะทำกับข้าวพื้น ๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ ถ้าวันไหนบ้านไหนทำแกงหรืออาหารพิเศษก็มักจะเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนบ้านเสมอ โดยผู้ใหญ่จะแบ่งกับข้าวหรือแกงใส่จานแล้วใช้ให้เด็ก ๆ อย่างพวกฉันวิ่งไปให้บ้านโน้นบ้านนี้ เมื่อบ้านที่รับของกินหมดแล้วห้ามเด็ดขาดมิให้คืนจานเปล่า จะต้องมีกับข้าวพิเศษติดจานกลับไปด้วยทุกครั้ง ที่จำได้ติดจมูกคือเมื่อมีบ้านไหนทำหลนปลาร้า จะส่งกลิ่นที่แม่เรียกว่า “เหม็นไปสามบ้านแปดบ้าน” กลิ่นที่ว่านี้ยังติดจมูกฉันมาจนถึงทุกวันนี้ กลิ่นที่ติดจมูกฉันมาอีกกลิ่นหนึ่งคือกลิ่นควันไฟ สมัยนั้นไม่มีแก๊ส ทุกบ้านล้วนมีครัวไฟ เวลาเช้า เวลาเย็นเมื่อแม่บ้านเข้าครัว สิ่งแรกที่ต้องทำคือการก่อไฟแต่ชาวบ้านเรียกว่า “ติดไฟ” โดยใช้ขี้ใต้หรือฟืนซึ่งก็คือเศษไม่ฝานเป็นชิ้นเล็กเป็นเชื้อไฟ ต่อมาก็มีวิวัฒนาการโดยใช้หนังสือพิมพ์เก่าขยุ้มให้เป็นก้อนกลม ๆ เป็นเชื้อไฟแทน กลิ่นถ่านเมื่อติดไฟใหม่ ๆ นั้นหอมนัก ทั้งนี้ต้องเป็นถ่านที่ปราศจากขี้แมวปนเนื่องจากถ่านนั้นจะเก็บไว้ในลังถ่านซึ่งเป็นที่มืดและแมวมักชอบไปแอบถ่ายไว้เสมอ

การหุงข้าวสวยในสมัยก่อนก็มีขั้นตอนที่ประณีตบรรจง เริ่มจากการตวงข้าวสารด้วยกระป๋องนมเก่า ๆ ข้าวสารจะเก็บไว้ในโอ่งดินหรือปิ๊บเก่า ๆ มีฝาปิดมิดชิด การตวงข้าวก็จะตวงตามจำนวนคนกินกำหนดเป็นสัดส่วนแน่นอนว่า 1 กระป๋องกินได้ 3 คนเป็นต้น เมื่อตวงข้าวลงหม้อได้จำนวนที่ต้องการแล้วก็เริ่ม “ซาวข้าว” หรือการล้างข้าวในน้ำสะอาด 1-2 ครั้ง จากนั้นก็ใส่น้ำสุดท้ายเพื่อหุง การหุงข้าวทำได้สองแบบคือ หุงแบบไม่เช็ดน้ำ และ หุงแบบเช็ดน้ำ การหุงแบบเช็ดน้ำนั้นทำง่ายกว่าเนื่องจากไม่ต้องกังวลถึงปริมาณน้ำที่ใส่ ส่วนการหุงแบบไม่เช็ดน้ำ ผู้หุงต้องชำนาญและกะปริมาณน้ำที่ใส่ให้พอดี มิฉะนั้นข้าวจะไม่สุก หรือ สุกแต่แฉะเกินไป กินไม่อร่อย สำหรับการหุงแบบไม่เช็ดน้ำเมื่อต้มข้าวไปจนสุกได้ที่ ต้อง “ดงข้าว” การดงข้าวเริ่มจากการเอาไม้ขัดหม้อข้าว ขัดฝาหม้อข้าวไว้โดยสอดไม้รอดหูหมอทั้งสองข้างผ่านหูกลางของฝาหม้อขาว วิธีนี้ทำให้ฝาหมอแนบสนิทกับตัวหม้อแต่สามารถรินน้ำข้าวผ่านได้ การดงข้าวคือการรินน้ำข้าวผ่านฝาหมอนี้เอง เมื่อดงน้ำข้าวแล้วให้นำหม้อข้าวขึ้นตั้งบนเตาไฟอีกครั้งแล้วหมุนหม้อข้าวไปรอบ ๆ เพื่อให้ข้าวแห้งสนิทดี ส่วนน้ำข้าวนั้นจะเก็บไว้ให้เด็กกินโดยเอาเกลือป่นโรยเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ หรือจะเอาผสมข้าวหรือจะเทให้หมาลูกหมากินเปล่า ๆ ก็ได้ เรียกว่า “น้ำนมหมา”

จากคุณ : แมงกะพรุน - [20 เม.ย. 45 06:03:20]

ความคิดเห็นที่ 1
เราชอบหุงข้าวในกระบอกไม้ไผ่ แต่อยู่กรุงเทพคงหาไม้ไผ่ยาก
จากคุณ : Licht (Miran) - [20 เม.ย. 45 18:36:31]

ความคิดเห็นที่ 2
ตอนนี้ที่ตวงข้าวสารของที่บ้าน ก็เป็นกระป๋องนมเก่าๆ อยู่ค่ะ เอ้อ นิดหนึ่งนะคะ อยากให้เว้นย่อหน้าให้สั้นลงหน่อยได้มั้ยค่ะ อ่านติดๆ กันอย่างนี้แล้วตาลายอ่ะค่ะ
จากคุณ : O-HO - [21 เม.ย. 45 01:47:03]

ไม่มีความคิดเห็น: