วันจันทร์, กรกฎาคม 28, 2551

เรื่องของฉัน ตอนที่ 21


ตอนที่ 21
วัยทำงานช่วงต้น 2514 – 2519

เพื่อมิให้ต้องพะวักพะวงเกี่ยวกับเรื่องการเกณฑ์ทหาร เด็กที่เรียนสายพาณิชย์ในสมัยนั้นจะเรียนหลักสูตรรักษาดินแดน 3 ปีควบคู่กันไปด้วย โดยใช้ช่วงปิดเทอมเรียนปีละ 10 วัน ฝึกทั้งภาคทฤษฎีและภาคสนามเช่นการเข้าแถวยืนตรง ซ้าย ขวา และ กลับหลังหัน การพักในแถวที่เรียกว่า "ตามระเบียบพัก" การทำความเคารพด้วยมือเปล่าเรียกว่าการทำ "วันทยาหัต" การทำความเคารพเมื่อถืออาวุธปืนเรียกว่าการทำ "วันทยาวุธ" และ เรียบอาวุธ การใส่หมวกและการถอดหมวก การเข้าค่ายเดินทางไกล และการใช้อาวุธซึ่งเป็นปืนโบราณหนักอึ้งรุ่น ปลยบ 88 แปลว่าปืนเล็กยาวรุ่นปี พ.ศ. 2488 เก่าไม่เก่าคิดดูเองแล้วกัน นักศึกษาวิชาทหารทุกคนจะได้รับโอกาสให้ยิงปืนที่หนักอึ้งนี้คนละ 10 นัดหลังจากยิงแล้วไหล่จะครากไปหลายวันทุกคนไปเพราะถูกปืนถีบ เมื่อเรียนครบสามปีแล้วจะได้ยศ "ว่าที่สิบตรี" แจ้งขอขึ้นทะเบียนกองประจำการเพื่อปลดเป็นทหารกองหนุน ไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารอีกต่อไปเว้นเสียแต่ว่าจะเกิดศึกสงครามขึ้นมา

เพื่อน ๆ รุ่นพี่แจ้งเป็นธรรมเนียมไว้ว่า ถ้าไม่อยากถูกฝึกหนักต้องเอาใจจ่าครูฝึกให้ดี ๆ พวกฉันล้วนเป็นเด็กหัวอ่อนและไม่อยากฝึกหนักเพราะมันเหนื่อย นอกจากจะเชื่อฟังครูฝึกเป็นอย่างดีแล้ว หัวหน้านักเรียนยังเรี่ยรายเงินรวบรวมกันคนละเล็กละน้อยไปซื้อหาของขวัญของกำนัลให้กับจ่าครูฝึกอยู่เนือง ๆ ระยะเวลาในการฝึกของพวกฉันจึงรวบรัดไม่เยิ่นเย้อ หากจะต้องฝึกสถานที่ฝึกก็จะเป็นบริเวณที่ร่ม ไม่ต้องตากแดดตากฝนให้ระคายผิวอันผุดผ่องมากมายนัก

พอเรียนเทอมแรกของชั้นปีที่ 3 จบ โรงเรียนจะสนับสนุนให้นักเรียนเริ่มออกหางานทำ ใครที่ได้งานทำโรงเรียนจะให้จบโดยไม่ต้องเรียนเทอมสอง เพื่อน ๆ ที่ร่วมชั้นเรียนกันหลายคนต่างพากันได้งานทำกันไปส่วนใหญ่ก็ด้วยความช่วยเหลือของญาติพี่น้องได้เงินเดือนกันคนละ 1,400 - 1,500 บาทก็ดีใจตื่นเต้นกันเป็นที่เอิกเกริกด้วยเห็นว่าเป็นเงินที่มากมายนักเพราะว่าสมัยนั้นข้าวราดแกงยังมีราคาชามละ 1 บาท 50 สตางค์ หรือที่เรียกกันว่า หกสลึง หากจะแนมด้วยไข่ดาวหรือกุ้นเชียงย่างจนเกรียม ก็จะมีราคา 2 บาท ก๋วยเตี๋ยวก็ขายกันในราคาชามละสิบสึงหรือ 2 บาท 50 สตางค์หรือหากจะรับแบบพิเศษใส่หมูเนื้อเครื่องในมากกว่าปกติก็จะมีราคาชามละ 3 บาท บุหรี่สายฝนที่ทำเลียนแบบซาเล็มมีราคาซองละ 6 บาท เด็กวัยรุ่นถือเป็นของโก้เก๋ที่จะสูบบุหรี่ ใครไม่สูบหรือสูบไม่เป็นต้องหัดให้เป็น ไม่มีเงินซื้อทั้งซอง ต้องแบ่งซื้อจากแม่ค้าที่แบ่งขายปลีก 5 มวน หกสลึง ตัวฉันเองก็เริ่มหัดสูบบุหรี่จนติดตามแฟชั่นในวัยนี้

ช่วงนั้นยังไม่มีการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ที่เข้มข้นและรุนแรงเหมือนในสมัยนี้ ผู้คนพากันสูบบุหรี่อยู่ทั่วไป ทั้งบนรถเมล์ ในโรงหนัง ในสถานที่ทำงาน ในร้านอาหาร คนสูบบุหรี่กับคนไม่สูบบุหรี่อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ตรงข้ามกับในปัจจุบัน สังคมล้วนแสดงออกซึ่งการต่อต้านผู้สูบบุหรี่อย่างเปิดเผยรุนแรง หากใครหยิบบุหรี่ขึ้นมาจุดสูบในสถานที่สาธารณะเมื่อใดก็มักจะถูกมองเป็นตัวประหลาดไปในทันที

ฉันสูบบุหรี่ติดต่อกันมากว่า 20 ปีก็เริ่มเบื่อ ใครที่ว่าการเลิกสูบบุหรี่เป็นเรื่องยากฉันจะเถียงว่าไม่จริงทุกครั้งไป เพราะจนถึงปัจจุบันฉันเลิกสูบบุหรี่มาแล้วถึงสามครั้ง แต่ละครั้งเป็นการเลิกแบบที่เรียกกันว่า “หักดิบ” คือเลิกเลยไม่ต้องอารัมภบทให้เยิ่นเย้อยุ่งยาก บุหรี่ก็อยู่ไฟแช็คก็มี แต่ไม่หยิบมาสูบ ทุกอย่างล้วนอยู่ที่ใจ พอหยุดไปได้ปีสองปี คิดถึงบุหรี่ ขอย้ำว่าคิดถึง มิได้อยากบุหรี่ ก็กลับมาสูบใหม่ ครั้งที่สามนี้ตั้งใจว่าจะเลิกเลย แต่ไม่แน่ พอใกล้ ๆ ถึงเวลา ตั้งใจว่าอะไรที่เป็นความสุข อะไรที่ชอบ อะไรที่ทำแล้วคนอื่นไม่เดือดร้อน จะทำมันทุกอย่าง

ฉันเริ่มร้อนตัวเมื่อเห็นเพื่อนทยอยได้งานทำกันไปทีละคนสองคน แม้ว่าส่วนใหญ่จะยังหางานไม่ได้ จนในที่สุดอดรนทนไม่ได้ต้องออกปากกับป๋าให้ช่วยหางานให้เนื่องจากเห็นว่าป๋าอยู่ในวงการธุรกิจมีเพื่อนฝูงคนรู้จักมากมาย แต่ก็เห็นป๋าเฉย ๆ ไม่มีวี่แววว่าจะฝากงานให้ฉันได้สำเร็จ จึงต้องดิ้นรนช่วยตัวเอง เริ่มจากการซื้อหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เพราะมีหน้าประกาศรับสมัครงาน จากนั้นก็เลือกงานแล้วเขียนจดหมายสมัครส่งประวัติพร้อมรูปถ่ายที่เจียดค่าขนมไปอัดมาเตรียมไว้หลายโหลไปตามบริษัทต่าง ๆ ที่เด็กหนุ่มในวัยฉันเห็นว่าน่าสนใจโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 5 ฉบับ ปรากฏว่ามีจดหมายตอบเรียกไปสัมภาษณ์หลายรายเหมือนกันแต่เกือบทั้งหมดล้วนเป็นงานขาย หรือ งานโรงงานซึ่งฉันไม่สนใจ เพราะฝังใจว่าจะต้องหางานนั่งโต๊ะผูกเน็กไททำให้ได้ เรื่องตลกเล่าให้ใครฟังยังขำกันอยู่จนทุกวันนี้คือมีจดหมายฉบับหนึ่งเรียกให้ฉันไปสัมภาษณ์ที่ชั้น 16 ตึก "ดุสิตธานี" ศาลาแดง ฉันก็อุตส่าห์ดั้นด้นไปจนถึงปรากฏว่า ตึกที่เป็นโรงแรมดุสิตธานีในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ด้วยความเถรตรงหรือที่สมัยนี้เรียกกันว่า "ซื่อบื้อ" ฉันสู้อุตส่าห์ปีนป่ายขึ้นไปจนถึงชั้น 16 ปรากฏว่าไม่มีสำนักงานที่ว่าแต่อย่างใด มีเพียงช่างก่อสร้างโบกปูนอยู่สอง-สามคน สอบถามแล้วไม่มีใครรู้จัก ระหว่างทางที่เดินลงมาพบกับผู้ควบคุมการก่อสร้างจึงออกปากถาม เขาก็ยิ้มแล้วบอกว่าตึกนี้เป็นตึกโรงแรมต้องไปติดต่อที่ตึกข้าง ๆ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงาน

ฉันก็ไม่ได้รับงานที่นี่เนื่องจากพบว่าเป็นงานขายหนังสือสารานุกรมซึ่งฮิตติดอันดับอยู่ในสมัยนั้น

จำไม่ได้เสียแล้วว่าใครที่เป็นคนพูดว่า คนสมัครงานก็เหมือนกับคนที่ต้องการจะเข้าไปในบ้านหากไม่เคาะประตูไม่กดกระดิ่งประตูบ้านจะเปิดได้อย่างไร ฉันจึงเพียรส่งจดหมายสมัครงานไปตามที่ต่าง ๆ อยู่ถึงสองเดือนเต็ม ๆ ได้รับคำตอบบ้าง ไม่ได้รับคำตอบบ้าง ในบรรดาคำตอบที่ได้รับมีจดหมายเป็นภาษาอังกฤษเรียกสัมภาษณ์ งานที่สมัครไปนั้นเป็นงานในตำแหน่ง เทลเลอร์ (Teller) ซึ่งฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืออะไร แปลแบบ งู ๆ ปลา ๆ ว่าน่าจะเป็นพวกล่ามหรือพวกแปลเอกสาร มารู้เอาที่หลังว่าหมายถึงพนักงานรับจ่ายเงินหน้าเค้าเตอร์ในธนาคาร สถานที่ซึ่งเขาเรียกฉันไปสัมภาษณ์นั้นตั้งอยู่ในสนามบินดอนเมืองส่วนที่เป็นกองบัญชาการกองทัพอากาศ หรือที่เรียกกันว่า บน. 6 เมื่อเดินเข้าไปถึงอาคารตามหมายเลขที่ระบุในจดหมาย พบว่าเป็นเรือนไม้สองชั้นปลูกเรียงรายอยู่หลายหลังและมีทหารฝรั่งทั้งผิวดำและผิวขาวเดินกันอยู่ขวักไขว่ เห็นป้ายภาษาอังกฤษติดไว้ที่หน้าอาคารนั้นมีความว่า The Chase Manhattan Bank, N.A., Military Finance Facilities จึงพอจะรู้ว่าเป็นเลา ๆ ว่าเป็นธนาคารแต่ก็งง ๆ ว่าทำไมไม่เคยได้ยินชื่อแถมยังมาตั้งอยู่ในค่ายทหารฝรั่งเสียอีก

ผู้ที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์ฉันชื่อ คุณเพ็ญศรี ซึ่งผู้หญิงหน้าตาใจดีซึ่งฉันรู้สึกถูกชะตาตั้งแต่แรกพบ คุณเพ็ญศรีมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของธนาคารในขณะนั้น ก่อนการสัมภาษณ์ได้มีการทดสอบโดยให้ฉันพิมพ์จดหมายและรายงานภาษาอังกฤษซึ่งไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใดสำหรับฉันอยู่แล้ว คำถามแรก ๆ ที่คุณเพ็ญศรีถามฉันคือฉันเขียนชวเลขได้ดีไหม อยากทำงานเป็นเลขานุการให้กับฝรั่งไหม ซึ่งฉันก็ตอบรับไปทั้งสองคำถามด้วยความมึนงง สุดท้ายคุณเพ็ญศรีได้แจ้งว่า ฝรั่งที่ว่าขณะนั้นไปต่างประเทศ จะกลับมาอีกประมาณ 1 เดือน ให้ฉันกลับไปรอฟังข่าวที่บ้านก่อน

ฉันกลับมาบ้านด้วยใจที่เป็นสุข ลางสังหรณ์หรืออะไรก็ไม่ทราบได้ที่ทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันต้องได้งานนี้แน่ ๆ ดังนั้น แม้ว่าจะมีจดหมายเรียกตัวมาอีกหลายฉบับแต่ฉันก็มิได้สนใจที่จะไปรับการสัมภาษณ์ ได้แต่ใช้เวลาที่รอจดหมายเรียกตัว นั่ง ๆ นอน ๆ บ้าง อ่านหนังสือบ้าง ออกไปดูหนังโยนโบว์ลิ่งเสียบ้าง จนป๋าเริ่มร้อนใจด้วยคิดว่าฉันประท้วงที่ไม่ช่วยหางาน แวะเวียนมาถามไถ่ถึงสาเหตุที่ฉันหยุดกิจกรรมการหางานอยู่เนือง ๆ
ประมาณเดือนครึ่งหลังจากนั้นฉันก็ได้รับจดหมายเรียกเข้าทำงานที่ธนาคารเชสแมนแฮตตั้น สาขาการเงินทหาร ในตำแหน่งเลขานุการผู้จัดการใหญ่ โดยระบุเงินเดือนเริ่มต้นสูงถึงเดือนละ 1,800 บาทเลยทีเดียว

จากคุณ : แมงกะพรุน - [31 พ.ค. 45 02:40:20 A:203.121.147.253 X:]

ความคิดเห็นที่ 1
ขอบคุณค่ะ ที่ทำให้ได้รำลึกถึง...เงินเดือนแรกได้....ราคาก๋วยเตี๋ยว..สมัยโน้น และวิถีชีวิตที่ความเก๋ส่วนหนึ่งมาจากการต้องสูบบุหรี่ จริ๊ง..แสนจริงละค่ะ ยังนึกภาพเพื่อนๆหญิงหัดสูบบุหรี่ และชอบส่วนนี้เป็นพิเศษค่ะ ที่ว่า "คนสมัครงานก็เหมือนกับคนที่ต้องการจะเข้าไปในบ้านหากไม่เคาะประตูไม่กดกระดิ่งประตูบ้านจะเปิดได้อย่างไร" ขอคุณพระคุ้มครองสุขภาพนะคะ

จากคุณ : ปราณ - [31 พ.ค. 45 04:09:58 ]

ความคิดเห็นที่ 2
บุหรี่เลิกนานแล้ว แต่ตอนแรกก็แย่เหมือนกัน(คงจะเป็นความเคยชิน)
จากคุณ : GTW - [31 พ.ค. 45 04:14:59 A:202.133.172.13 X:]

ความคิดเห็นที่ 3
เค้าหางานกันทางเนตแล้วล่ะพี่แมงกะพรุนพี่ลางสังหรณ์สูงดีค่ะท่าทางงานแรกก็แฮปปี้แล้วนะคะไม่เคยรู้ว่าเทลเลอร์ คือพนักงานหน้าเคาทเตอร์แบงค์มารู้ตอนมาเมืองนอกนี่แหล่ะค่ะรออ่านตอนต่อไปนะคะ
รักษาสุขภาพด้วยค่ะ
จากคุณ : JW - [31 พ.ค. 45 05:33:16 A:142.173.107.180 X:]

ความคิดเห็นที่ 4
I like this chapter ka. ^-^
จากคุณ : The Secret Admirer - [31 พ.ค. 45 11:59:21 ]

ความคิดเห็นที่ 5
สมัยก่อนหรือสมัยนี้ก็หางานทำยากไม่แพ้กันเลยนะคะ @ ^_^ @
จากคุณ : O-HO - [31 พ.ค. 45 13:28:52 A:202.133.167.176 X:]

ไม่มีความคิดเห็น: